Page 146 - เอกสารประกอบหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพ Re - Skill และ Up - Skill กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม
P. 146
ใบความรู้ที่ 5.1
เรื่อง การเพิ่มมูลค่าผลผลิตพืชสมุนไพรขมิ้นชัน
ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่คนไทยและคนในทวีปเอเชียอีกหลายประเทศนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นอาหาร ยา
และเครื่องสำอาง จนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และมีแนวโน้มนิยมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผลการศึกษาวิจัย
ทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ในขมิ้นชันมีสารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์อยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่ม
เคอร์คูมินอยด์ มีฤทธิ์ทางยาหลายอย่าง เช่น ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขับลม ฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร
ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็ง เป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก ในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนา
เป็นตำรับยาบรรจุในแคปซูล กินรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และนำเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามในการแปรรูปขมิ้นชันจากเหง้าดิบมาเป็นผง ไม่ว่าจะใช้เพื่อเป็นยา
หรือเป็นเครื่องสำอางประทินผิว ประชาชนสามารถดำเนินการได้เอง แต่จะต้องระมัดระวัง ตั้งแต่อายุของขมิ้นชัน
การแปรรูป การเก็บรักษา เพราะหากไม่ถูกต้อง จะทำให้ได้สารสำคัญในขมิ้นชันเหลือน้อยหรือเสื่อมคุณภาพได้
ง่ายสรรพคุณในการใช้งานก็จะลดลง โดยเฉพาะผงขมิ้นชันบรรจุถุงพลาสติกที่วางขายตามข้างทางตามแผงลอยต่าง ๆ
มีโอกาสเสื่อมคุณภาพได้ง่าย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า ในประเทศไทยมีขมิ้นชัน
มากถึง 34 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ดีที่สุด ตามผลการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พบว่าสายพันธุ์แดงสยาม มีสารเคอร์คูมินอยด์ถึงร้อยละ 10 - 12 เหง้า ขมิ้นอายุ7 - 9 เดือนจะสมบูรณ์เต็มที่ การแปรรูป
ที่ใช้กันส่วนมากจะใช้วิธีฝานเป็นชื้นบาง ๆ แล้วนำมาอบหรือตากแห้ง หลังจากที่ป่นเป็นผงขมิ้นชันแล้ว จะต้อง
เก็บรักษาในภาชนะที่ปิดสนิท แห้ง และระวังไม่ให้ถูกแสงแดด ความร้อน หรือความชื้น เนื่องจากจะทำให้สาร
เคอร์คูมินอยด์ และน้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชันสลายตัวเร็วขึ้น เช่น หากเก็บนาน 2 ปี น้ำมันหอมระเหยจะลดลงถึง
ร้อยละ 25 ดังนั้นจึงขอให้เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท อากาศเข้าไม่ได้ เช่น ขวดทึบแสง มีฝาปิดสนิท ไม่ให้อากาศเข้าได้
อย่าให้ถูกแดด ควรวางในที่ร่ม ไม่ควรเก็บผงขมิ้นชันในถุงพลาสติกที่รัดปากถุงด้วยยางทั่วไป เนื่องจากไม่สามารถ
ป้องกันไอน้ำได้ และจะทำให้ผงขมิ้นมีความชื้น เกิดเชื้อราได้ง่าย
สารสำคัญในขมิ้นชัน คือ เคอร์คูมินอยด์และน้ำมันหอมระเหย ขมิ้นชันที่ดีต้องมีปริมาณเคอร์คูมินอยด์
คำนวณเป็นเคอร์คูมิน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก และน้ำมันหอมระเหยไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 โดยปริมาตร
ต่อน้ำหนัก ตามมาตรฐานของตำรับยาสมุนไพรไทย หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 และร้อยละ 4 ตามมาตรฐานของ
องค์การอนามัยโลก ภูมิปัญญาไทยใช้ประโยชน์จากขมิ้นชันในการรักษาพิษแมลงสัตว์กัดต่อย บรรเทาอาการจุกเสียด
แน่นเฟ้อ การบำรุงผิวพรรณ และใช้ในการปรุงแต่งกลิ่นและรสอาหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขมิ้นชัน ได้แก่ ยา
เช่น ลดกรด รักษาแผล และลดอาการอักเสบ ส่วนอาหารเสริมสุขภาพและเครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิว สบู่
ผลิตภัณฑ์สปา Aroma Therapy และลูกประคบ ยาทากันยุง ส่วนผสมในอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง
และผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
........................................
1 วิธีปลูกขมิ้นชัน (Turmeric). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก. https://www.plookphak.com/how-to-plant-turmeric/.
(วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กรกฎาคม 2564)
142